วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ธุดงควัตร และ คำสมาทาน


ธุดงควัตร
ธุดงควัตร คือ ข้อปฏิบัติที่เข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อความขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบังคับให้ภิกษุถือปฏิบัติ ใครจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ผู้ที่จะปฏิบัติธุดงควัตรนั้น สามารถเลือกได้เองตามความสมัครใจ ว่าจะปฏิบัติข้อใดบ้าง เป็นเวลานานเท่าใด เมื่อจะถือปฏิบัติก็เพียงแต่กล่าวคำสมาทานธุดงควัตรข้อที่ตนเลือก แล้วก็เริ่มปฏิบัติได้เลย 
ธุดงควัตรมี 13 ข้อแบ่งเป็น 3 หมวด คือ 
หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับจีวร)
1.)
ปังสุกูลิกังคธุดงค์ (การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร) คือการใช้แต่ผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะบ้าง ข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่แล้วนำมาใช้ งดเว้นจากการใช้ผ้าใหม่ทุกชนิด (บังสุกุล แปลว่า คลุกฝุ่น) ใช้คำว่าสมาทานว่า "คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า “เรางดคฤหบดีจีวรเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร"

2.)
เตจีวรริกังคธุดงค์ (การถือผ้า 3 ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร) คือการใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่ สบง(ผ้านุ่ง) จีวร(ผ้าห่ม) สังฆาฏิ(ผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น คลุมกันหนาว ปูนั่ง ปูนอน ปัดฝุ่น ใช้แทนสบง หรือจีวรเพื่อซักผ้าเหล่านั้น ปัจจุบันภิกษุไทยมักใช้พาดบ่าเมื่อประกอบพิธีกรรม)
คำสมาทานว่า จตุตฺถจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า เรางดจีวรผืนที่ 4 เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร"
หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับบิณฑบาต )
3.)
ปิณฑปาติกังคธุดงค์ (การถือบิณฑบาตเป็นวัตร) คือการบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน ใช้คำสมาทานว่า อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิแปลว่า เรางดอติเรกลาภเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือบิณฑบาตรเป็นวัตร" 
4.) สปทานจาริกกังคธุดงค์ (การถือบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร) คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป ใช้คำสมาทานว่า โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ สปทาน จาริกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า เรางดการเที่ยวโลเลเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตรไปตามแถวเป็นวัตร”
5.) เอกาสนิกังคธุดงค์ (การถือฉันจังหันในอาสนะเดียว (ฉันมื้อเดียว) เป็นวัตร) คือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่ม ใช้คำสมาทานว่า นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า เรางดการฉัน ณ ต่างอาสนะเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
6.) ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ (ถือการฉันในภาชนะอันเดียว (คือฉันในบาตร) เป็นวัตร) คือจะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาดของอาหาร ใช้คำสมาทานว่า ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า เรางดภาชนะที่ 2 เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร” 
7.) ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ (ถือการห้ามภัตตาหารที่นำมาถวายภายหลังเป็นวัตร) คือเมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม ใช้คำสมาทานว่า อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ขลุปจฺฉาภตฺติกงคํสมาทิยามิ” แปลว่า เรางดโภชนะอันเหลือเฟือเสีย สมาทานองค์แห่งผู้ห้ามภัตอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร
หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับเสนาสนะ )
8.)
อารัญญิกังคธุดงค์ (ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร) คือจะอยู่อาศัยเฉพาะในป่าเท่านั้น จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเลย เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ หรือเพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส ใช้คำสมาทานว่า คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ อารญฺญิกงฺคํสมาทิยามิ” แปลว่า เรางดเสนาสนะชายบ้านเสีย สมาทานองค์แห่งผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
9.) รุกขมูลิกังคธุดงค์ (ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร) คือจะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เท่านั้น งดเว้นจากการอยู่ในที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง ใช้คำสมาทานว่า ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า เรางดที่มุงบังเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร”
10.) อัพโภกาสิกังคธุดงค์ (ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้ง (อยู่กลางแจ้ง) เป็นวัตร) คือจะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใดๆ เลย แม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัย ใช้คำสมาทานว่า ฉนฺนญฺจ รุกฺมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า เรางดที่มุงที่บังและโคนไม้เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร
11.) โสสานิกังคธุดงค์ (ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร) คือจะงดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาท ใช้คำสมาทานว่า อสุสานํ ปฏิกฺขิปามิ โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ แปลว่า เรางดที่มิใช่ป่าช้าเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร
12.) ยถาสันถติกังคธุดงค์ (ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร) คือเมื่อใครชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือจัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็พักอาศัยในที่นั้นๆ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที ใช้คำสมาทานว่า เสนาสนโลลุปฺเป ปฏิกฺขิปามิ ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “เรางดความโลเลในเสนาสนะเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ในเสนาสนะเท่าที่ท่านจัดให้
13.) เนสัชชิกังคธุดงค์ (ถือการไม่นอนเป็นวัตร) คือจะงดเว้นอิริยาบถนอน จะอยู่ใน 3 อิริยาบทเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง จะไม่เอนตัวลงให้หลังสัมผัสพื้นเลย ถ้าง่วงมากก็จะใช้การนั่งหลับเท่านั้น เพื่อไม่ให้เพลิดเพลินในการนอน ใช้คำสมาทานว่า เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ เนสชฺชิกงฺคั สมาทิยามิแปลว่า เรางดการนอนเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการนั่งเป็นวัตร
 การถือธุดงคบำเพ็ญสามารถทำได้ด้วยการสมาทานคือด้วยอฐิษฐานด้วยใจ หรือแม้นด้วยการเปล่งวาจา
คุณประโยชน์ของธุดงควัตร คือ การยังชีพโดยบริสุทธิ์ มีผลเป็นสุข เป็นของไม่มีโทษ บำบัดความทุกข์ของผู้อื่นเสีย เป็นของไม่มีภัย ไม่เบียดเบียน มีแต่เจริญฝ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุให้เสื่อม ไม่มีมารยาหลอกลวงไม่ขุ่นมัว ทั้งยังเป็นเครื่องป้องกัน และเป็นเหตุให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนา กำจัดเสียซึ่งศัสตราทั้งปวง มีประโยชน์ในทางสำรวมอันสมควรแก่สมณะ ทำให้สงบยิ่ง เป็นเหตุให้หลุดพ้น เป็นเหตุให้สิ้นราคะ เป็นการระงับเสียซึ่งโทสะทำโมหะให้พินาศไป เป็นการกำจัดเสียซึ่งมานะ เป็นการตัดเสียซึ่งวิตกชั่ว ทำให้ข้ามความสงสัยได้ กำจัดเสียซึ่งความเกียจคร้าน กำจัดเสียซึ่งความไม่ยินดีในธรรม เป็นเหตุให้มีความอดทน เป็นของชั่งไม่ได้ เป็นของหาค่าประมาณมิได้ และทำให้สิ้นทุกข์ทั้งปวง

อานิสงส์ การปฏิบัติธุดงควัตร คือเป็นการประหารกิเลส การอยู่อย่างสมถะ เสียสละ ลดละอุปโภคบริโภค ทำให้จิตเป็นอิสระพ้นจาก พันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวาง สู่ความเบาสบาย สงบเอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญความเพียร
การท่องไปในป่าที่ดารดาษไปด้วยสิงสาราสัตว์ภัยอันตราย ยังเป็นการฝึกจิต หลอมใจ ให้เข้มแข็ง มีสติระลึกรู้ การเจริญสติยังก่อให้เกิดสมาธิ และจิตตานุภาพ จิตจึงมั่นคง เข้มแข็งด้วย ศีล-สมาธิ-ปัญญา เปี่ยมไปด้วยศรัทธาแห่งความเพียร

ที่มา www.watnongphapong.org