วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สัทธิวิหาริก-อันเตวาสิก

สัทธิวิหาริก-อันเตวาสิก
คำว่า “สัทธิวิหาริก” กับ “อันเตวาสิก” นั้น ผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียน มาแล้วคงจะคุ้นเคยกับสองคำนี้มากกว่าคนทั่วๆ ไป แต่ก็ยังมีหลายท่านที่เข้าใจสับสนกันในระหว่างสองคำนี้ ในหนังสือ ‘พูดจาภาษาวัด’ โดยกรมการศาสนา ปี ๒๕๔๔ และหนังสือ ‘คำวัด’ โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) รวมทั้ง ‘พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์’ โดย พระพรหมณ์คุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายของทั้งสองคำนี้ไว้ว่า 
 

สัทธิวิหาริก แปลว่า ผู้อยู่ด้วย เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท คือถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์รูปใด ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น ผู้สมัครใจขอบรรพชาอุปสมบท ต้องปฏิญญาว่ามีศรัทธาเลื่อมใส ขอสมัครบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา จึงขอมอบตัวเป็นสัทธิวิหาริกในพระอุปัชฌาย์ และเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว จะเคารพนับถือเชื่อฟัง ตั้งอยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์ และจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามพระวินัย ระเบียบแบบแผนของวัด และคณะสงฆ์ตลอดไป

เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์จะออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริก พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนไว้ และจัดทำบัญชีสัทธิวิหาริกที่อุปสมบทในปีหนึ่งๆ ส่งพระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาตามลำดับ

ที่เรียกว่าสัทธิวิหาริกนั้น เพราะพระวินัยกำหนดไว้ว่า ภิกษุผู้บวชใหม่จะต้องถือนิสสัยโดยอยู่กับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อย ๕ ปี เพื่อให้อุปัชฌาย์อบรมแนะนำสั่งสอน เหมือนบิดาสอนบุตร ภิกษุผู้มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว ไม่ต้องถือนิสสัยต่อไป เรียกภิกษุนั้นว่า นิสสัยมุตตกะ(ผู้พ้นนิสสัยแล้ว)

ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติที่สัทธิวิหาริก พึงกระทำต่ออุปัชฌาย์ของตนโดยย่อ คือ เอาใจใส่ ปรนนิบัติรับใช้ คอยศึกษาเล่าเรียนจากท่าน ขวนขวายป้องกันหรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ความคิดจะสึก ความเห็นผิด เป็นต้น รักษาน้ำใจของท่าน มีความเคารพ จะไปไหนก็บอกลา ไม่เที่ยวตามอำเภอใจ และเอาใจใส่พยาบาลเมื่อท่านอาพาธ เรียกข้อปฏิบัติเหล่านี้ว่า “อุปัชฌายวัตร”

ส่วนหน้าที่หรือข้อควรปฏิบัติอันอุปัชฌาย์จะพึงกระทำแก่สัทธิวิหาริก คือ

๑. เอาธุระในการศึกษา

๒. สงเคราะห์ด้วยบาตร จีวร และบริขารอื่นๆ

๓. ขวนขวาย ป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ระงับความคิดจะสึก เปลื้องความเห็นผิด ฯลฯ

๔. พยาบาลเมื่ออาพาธ

เรียกข้อปฏิบัติเหล่านี้ว่า “สัทธิวิหาริกวัตร”

สำหรับ อันเตวาสิก แปลว่า ผู้อยู่ภายใน ใช้เรียกภิกษุผู้อาศัยอยู่กับอาจารย์หรือภิกษุผู้มิใช่พระอุปัชฌาย์ของตน เช่น บวชจากวัดนี้ไปอาศัยอยู่กับอาจารย์อีกวัดหนึ่งเพื่อเล่าเรียน ดังนี้เรียกว่าเป็นอันเตวาสิกของวัดนั้น

อันเตวาสิก มี ๔ ประเภท คือ

๑. ปัพพชันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกในบรรพชา
๒. อุปสัมปทันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกในอุปสมบท
๓. นิสสยันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกผู้ถือนิสสัย
๔. ธัมมันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม

ดังนั้น สัทธิวิหาริกจึงคู่กับอุปัชฌาย์ ส่วนอันเตวาสิกคู่กับอาจารย์


คัดลอกมาจาก :
ศัพท์ธรรมคำวัด : สัทธิวิหาริก-อันเตวาสิก โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 ธันวาคม 2547